คู่มือแนะนำสำหรับชาวต่างชาติ
พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานซากาโมโตะ เรียวมะ
ซากาโมโตะ เรียวมะ ( ปี พ.ศ.2378 - พ.ศ.2410) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่แคว้นโทะซะมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปญี่ปุ่นให้เป็นประเทศสมัยใหม่หลังสิ้นสุดยุคสมัยเอโดะ ถึงแม้เขาจะเสียชีวิตลงในขณะที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย แต่คงกล่าวได้ว่าประเทศญี่ปุ่นสมัยใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นจาก 'กลุ่มพันธมิตรซัตโจ' และ 'การฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์' ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนอย่างสุดกำลังของเขา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีการสำรวจและค้นคว้าเกี่ยวกับซากาโมโตะ เรียวมะและช่วงปฏิรูปยุคบาคุมัทสึ (สมัยรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะตอนปลาย) อีกทั้งยังเก็บรวบรวมเอกสารและให้คำแนะนำแก่สาธารณชนทั่วไป นอกจากนั้นยังมุ่งเผยแพร่เรื่องราวของซากาโมโตะ เรียวมะให้เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของผู้คนมากยิ่งขึ้นผ่านงานแสดงนิทรรศการและโครงการส่งเสริมการเรียนรู้
ผู้ที่ชื่อว่า ซากาโมโตะ เรียวมะ
หากพูดถึงซากาโมโตะ เรียวมะอย่างง่ายๆ คงกล่าวได้ว่าเป็น 'บุคคลผู้สร้างโอกาสในการล้มล้างรัฐบาลเอโดะ' รัฐบาลบาคุฟุในสมัยนั้นไม่สามารถปฏิเสธข้อเรียกร้องของชาวต่างชาติได้ อีกทั้งยังขาดความสามารถในการรวมภายในประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว บรรดาผู้คนที่คิดว่ารัฐบาลบาคุฟุในสภาพเช่นนี้ไม่สามารถปกป้องประเทศญี่ปุ่นได้และจำเป็นต้องให้ประเทศชาติรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของจักรพรรดิแทนที่รัฐบาลบาคุฟุก็ค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้น และเรียวมะก็เป็นหนึ่งในนั้น
เรียวมะได้สร้างพันธมิตรกับแคว้นซะสึมะและแคว้นโจชู (กลุ่มพันธมิตรซัตโจ) ซึ่งมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่เพื่อโค่นล้มรัฐบาลบาคุฟุ อีกทั้งยังเสนอให้แคว้นโทะซะ 'ฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์' เพื่อล้มล้างรัฐบาลบาคุฟุโดยไม่ก่อสงครามภายในประเทศ แคว้นโทะซะได้นำเสนอแผนนี้ต่อโทะกุงะวะ โยะชิโนะบุซึ่งเป็นโชกุนของรัฐบาลบาคุฟุและโยะชิโนะบุเองก็ยอมรับแผนนี้เช่นกัน รัฐบาลบาคุฟุจึงสิ้นสุดอำนาจลง นอกจากนั้นเรียวมะยังคิดหาหนทางที่รัฐบาลใหม่ควรเดินหน้าต่อไปและจัดการรวบรวม 'แผนแปดประการเพื่อรัฐบาลใหม่' ขึ้นมา
ประมาณ 1 เดือนหลังการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เรียวมะได้ถูกบุคคลไม่ทราบฝ่ายลอบทำร้ายที่เมืองเกียวโตจนถึงแก่ชีวิต เป็นการจบชีวิตลงโดยไม่มีโอกาสได้เห็นญี่ปุ่นในยุคสมัยใหม่
เค้าโครงสถานที่
อาคารใหม่
ห้องนิทรรศการถาวร
ครบครันไปด้วยฟังก์ชันพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงเอกสารล้ำค่า เช่น มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญไว้ด้วยเช่นกัน
ในห้องจัดแสดงถาวรจะมีการแนะนำให้รู้จักกับชีวิตและลักษณะนิสัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิดของเรียวมะผ่านเอกสารที่จัดแสดงต่างๆ เช่น จดหมายที่เขียนโดยซากาโมโตะ เรียวมะ เป็นต้น
ห้องนิทรรศการจอห์น มันจิโร่
ห้องนิทรรศการที่แนะนำให้รู้จักกับจอห์น มันจิโร่ (นาคาฮามะ มันจิโร่) ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยเดียวกับเรียวมะ จอห์น มันจิโร่ได้ข้ามไปยังอเมริกาหลังจากลอยคออยู่กลางทะเล เขาได้สัมผัสอีกทั้งยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติด้วยตนเอง หลังจากกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นเขาได้ทุ่มเทอย่างมากเพื่อปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยและเป็นสากล (ภาพถ่ายเป็นของจำลอง)
ห้องนิทรรศการชั่วคราว
จัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวตามหัวข้อต่างๆ และแนะนำให้รู้จักอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับยุคบาคุมัทสึซึ่งเป็นยุคที่ซากาโมโตะ เรียวมะและผู้คนรอบตัวเขาเคยมีชีวิตอยู่ (ภาพถ่ายเป็นของจำลอง)
อาคารหลัก
ในอาคารหลักจะมีการแนะนำให้รู้จักกับเรียวมะและยุคบาคุมัทสึอย่างเข้าใจได้ง่ายด้วยภาพเสมือนและนิทรรศการจำลองประสบการณ์จริง (นิทรรศการแบบที่ผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์สามารถทำให้เคลื่อนไหวได้จริง)
นอกจากนี้ยังสามารถมองดูมหาสมุทรแปซิฟิกที่กว้างใหญ่จากอาคารหลักได้อีกด้วย
ห้องภาพถ่ายยุคบาคุมัทสึ
จัดแสดงภาพถ่ายของบุคคลต่างๆ ที่เคยมีบทบาทในยุคบาคุมัทสึ
ลานบาคุมัทสึ
มีการจัดแสดงนิทรรศการที่สามารถสนุกกับภาพยนตร์อนิเมชันพร้อมกับเรียนรู้เกี่ยวกับผลงานความสำเร็จของเรียวมะ เช่น 'กลุ่มพันธมิตรซัตโจ' และ 'การฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์'
ร้านค้าพิพิธภัณฑ์
สามารถซื้อสินค้าออริจินัล เช่น หนังสือและเสื้อเชิ้ต เป็นต้น
เอกสารสำคัญ
*เอกสารต่างๆ อาจมีการจัดแสดงแบบที่จำลองขึ้นมาหรือเวลาที่ไม่ได้จัดแสดงขึ้นอยู่กับช่วงเวลา
จดหมายของซากาโมโตะ เรียวมะ
วันที่ 4 ธันวาคม ปีเคโอที่ 2 (พ.ศ.2409) เขียนถึง ซากาโมโตะ กมเป
มีการรายงานระยะเวลา 1 ปีหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายที่โรงเตี๊ยมเทราดายะ นอกจากการรายงานเรื่องราวตั้งแต่การจู่โจมแบบสายฟ้าแลบไปจนถึงการได้รับการต้อนรับจากแคว้นซะสึมะและสภาพเหตุการณ์ตั้งแต่การเข้าร่วมสงครามทางทะเลของโจชูไปจนถึงการพักรบสงครามโคคุระแล้ว ยังมีการเขียนเรื่องราวของครอบครัวไว้ด้วย
วันที่ 13 ตุลาคม ปีเคโอที่ 3 (พ.ศ.2410) จดหมายฉบับร่างถึงโกโต โชจิโร่
เป็นจดหมายที่บอกเล่าเรื่องราวว่าในวันที่ตัดสินใจว่าจะทำการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์หรือไม่นั้น เรียวมะได้เผชิญหน้ากับโกโตซึ่งไปประจำการที่ปราสาทนิโจด้วยใจที่พร้อมจะสละชีวิต แต่เขาได้เขียนพลาดจากคำว่า 'เซ็นเซย์ (อาจารย์) (โกโต)' เป็น 'เซย์เซย์' โดยใส่พลังในการเขียนมากทีเดียว ซึ่งสิ่งนี้ได้หลงเหลืออยู่ในฉบับร่างที่เตรียมไว้ สื่อตรงถึงความตึงเครียดในเวลานั้น (เอกสารนำฝาก)
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปีเคโอที่ 3 (พ.ศ.2410) เขียนถึงมุสึ มุเนะมิสึ
จดหมายก่อนวันลอบสังหาร 2 วัน เป็นการพูดคุยเรื่องดาบกับมุสึซึ่งซากาโมโตะเคยตั้งความหวังไว้ในกลุ่มไคเอ็นไต จดหมายฉบับสุดท้ายในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่
บันทึกคิโนะเอสึเคียว
ฉบับร่างของจดหมายที่ซากาโมโตะซึ่งกลับมาจากแคว้นฟุคุอิได้บอกเล่ารายละเอียดแก่โกโต โชจิโร่ในเดือนพฤศจิกายน ปีเคโอที่ 3 (พ.ศ.2410) จดหมายสำคัญที่เสนอให้มิทสึโอกะ ฮาจิโร่เป็นผู้รับผิดชอบด้านการเงินของรัฐบาลใหม่และความคิดของแคว้นฟุคุอิเกี่ยวกับการถวายคืนอำนาจแก่จักรพรรดิ
กฎไคเอ็นไต
กฎที่ระบุไว้เป็นข้อๆ ในตอนที่กลุ่มไคเอ็นไตเข้ามาเปลี่ยนแปลงกลุ่มการค้าคะเมะยะมะ ประกอบด้วยกฎ 5 ข้อซึ่งคุณสมบัติของลูกเรือจะต้องเป็นผู้มีความต้องการจะไปต่างประเทศกับผู้ที่ไร้สังกัดและมีการระบุเรื่องทักษะการเดินเรือตลอดจนเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษไว้อย่างชัดเจน
ปืนพก สมิธแอนด์เวสสัน 2
เป็นรูปแบบเดียวกับปืนพกที่เรียวมะได้รับจากทะกะซุงิ ชินซะกุ ขนาดลำกล้อง.32 ยิงต่อเนื่อง 6 นัดและมีขนาดยาว 27 เซนติเมตร เนื่องจากปืนพกที่เรียวมะเคยมีไว้ในครอบครองนั้นเขาได้ทิ้งไปแล้วในตอนที่ถูกโจมตีจากกลุ่มตำรวจฟุชิมิที่โรงเตี๊ยมเทราดายะจึงไม่มีปืนของจริงอยู่
หนังสือเฮียวซนคิเรียะขุ
หลังจากจอห์น มันจิโร่ (นาคาฮามะ มันจิโร่) ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเลในระหว่างหาปลา เขาได้ข้ามไปยังอเมริกา ใช้ชีวิตในต่างแดนนาน 11 ปีและกลับมายังประเทศญี่ปุ่น อิคาคุ คาวาดะซึ่งเป็นจิตรกรได้รับฟังประสบการณ์การเดินเรือข้ามมหาสมุทรและเรื่องราวในต่างประเทศจากจอห์น มันจิโร่และได้เขียนเป็นหนังสือที่ชื่อว่า 'เฮียวซนคิเรียะขุ'
คำแนะนำ
- เวลาทำการ
- ค่าเข้าชม
- การเข้าถึง
- ไม่มีวันปิด
- 9.00 น. - 17.00 น. (สามารถเข้าได้ถึง 16.30 น.)
- 700 เยน (560 เยน)
ช่วงที่ไม่มีการจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว 500 เยน (400 เยน)
* ภายใน ( ) เก็บค่าเข้าชมเป็นกลุ่มตั้งแต่ 20 ท่านขึ้นไป
* ผู้เข้าชมที่ไม่เกินระดับชั้นมัธยมปลายไม่ต้องเสียค่าเข้าชม
- นั่งรถโคสะเด็นโคซูบัส สายที่ไป 'คัทสึระฮามะ' ลงที่สถานี 'เรียวมะคิเน็นคังมาเอะ' เดิน 2 นาที
ไม่มีวันหยุดทำการ